Infrastructure
Macro
February 27, 2023
Proof of Work ที่โดนโจมตีว่ากินพลังงานมหาศาลแต่ทำไม Bitcoin ถึงไม่ยอมเปลี่ยน

Table of Contents

1. หน้าที่ของ Proof-of-Work ใน Bitcoin Network

2. ทำไมต้อง Proof of Work ?

  • 2.1 เครื่องขุดที่จำนวนมากพอ
  • 2.2 แหล่งพลังงานที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เครื่องขุดได้ทั้งหมด

3. การรวมศูนย์ของ Mining Pool น่ากังวลหรือไม่ ?

4. ถ้าขุดบิตคอยน์ครบ 21 ล้านเหรียญแล้วจะเป็นยังไงต่อ ?

5. เปรียบเทียบการใช้พลังงานของบิตคอยน์และอุตสาหกรรมอื่นๆ

6. Bitcoin มีแนวโน้มเข้าหาพลังงานสะอาดและพลังงานเหลือทิ้งอย่างจริงจัง

7. Summary

Proof of Work

Proof of Work เป็นวิธีที่ระบบของบิตคอยน์ใช้ในการยืนยันธุรกรรมเพื่อหาความจริงเพียงหนึ่งเดียวให้กับบล็อกเชนของบิตคอยน์ที่ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการใช้เงินซ้ำซ้อนหรือ Double-spending ในระบบการเงินดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลางนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากระบบการเงินดิจิทัลในปัจจุบันที่จำเป็นต้องมีหน่วยงาน ธนาคารหรือบริษัทเอกชนคอยยืนยันธุรกรรมให้

บิตคอยน์ใช้ Proof of Work มาตั้งแต่แรกและไม่มีท่าทีว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบอื่นๆ ในขณะที่ Ethereum ได้มีการเปลี่ยนเป็น Proof of Stake ไปเมื่อไม่นานมานี้ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างโดยเฉพาะเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงกันและนำมาโจมตีบิตคอยน์อยู่เสมอ

แต่ทั้งๆ ที่มีเสียงต่อต้านมากมายขนาดนี้ เหตุใด Bitcoiner ถึงคิดว่ามันถึงพิเศษและไม่ว่ายังไงก็จะไม่มีทางเปลี่ยนไปเป็น Proof of Stake ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก Proof of Work ตั้งแต่แนวคิด ข้อเท็จจริง รวมไปถึง เหตุผลที่ทำให้ Proof of Work ของ Bitcoin นั้นพิเศษในสายตาของ Bitcoiner ทั่วโลก

1. หน้าที่ของ Proof of Work ใน Bitcoin Network

การที่บิตคอยน์ต้องการเป็นเงินสดดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลางโดยปราศจากสถาบันการเงินหรือตัวกลางไหนๆ มาคอยตรวจสอบธุรกรรมเพื่อป้องกันการใช้เงินซ้ำซ้อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก่อนบิตคอยน์จะเกิดขึ้นมาก็ไม่เคยมีเงินดิจิทัลไหนที่ปราศจากตัวกลางได้เลย

Distributed Ledgers
Source: corporatefinanceinstitute.com

วิธีง่ายๆ ที่บิตคอยน์เลือกใช้ในการที่จะไม่มีตัวกลางควบคุมข้อมูลก็คือการกระจายสมุดบันทึกบัญชีไปยังทุกคนที่อยู่ในระบบ โดยถ้าหากเกิดการทำธุรกรรมขึ้น คนในระบบทุกคนก็ต้องตรวจสอบว่าคนทำธุรกรรมนั้นมีเงินเพียงพอสำหรับการทำธุรกรรมนั้นหรือไม่ มีการใช้เงินซ้ำซ้อนหรือไม่

โดยการตรวจสอบนั้นก็จะต้องตรวจสอบกับทุกๆ คนในเครือข่ายว่าข้อมูลตรงกันหรือเปล่า และเมื่อทุกคนตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง ทุกคนในระบบก็ต้องทำการบันทึกธุรกรรมนั้นที่เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวลงไปในสมุดบัญชีของทุกคน ซึ่งระบบที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ระบบฉันทามติ (Consensus) หรือก็คือความเห็นพ้องต้องกันของทั้งระบบ

ฟังดูก็เหมือนจะง่ายและไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้ระบบนี้ทำงานได้อย่างดีก็คือความซื่อสัตย์ของคนในระบบทุกคนและทุกคนต้องเชื่อใจกัน แต่ระบบที่กระจายศูนย์อยู่ทั่วโลกนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่คนอีกฟากโลกจะเชื่อใจคนอีกฟากโลกที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และยิ่งเป็นระบบการเงินแล้วนั้นก็ยิ่งเป็นได้ยากเพราะมักจะมีคนที่ไม่ซื่อสัตย์ที่จะโกงทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเสมอ

แล้วบิตคอยน์ทำอย่างไรในการสร้างระบบกระจายศูนย์ที่ไม่ต้องเชื่อใจใครได้ยังไง ?

(เนื้อหาจะอธิบายแบบไม่ลงลึกเรื่อง Technical มากนักแต่จะมีการทำตัวหนาสำหรับ Key Word สำคัญที่ผู้อ่านที่สงสัยสามารถไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้)

สิ่งที่บิตคอยน์ใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั่นก็คือ “Proof of Work” ที่จะมีลักษณะเป็นการกำหนดให้ผู้ที่สามารถแก้ไขโจทย์ที่ระบบบิตคอยน์มอบให้ได้เร็วที่สุดจะมีสิทธิ์ในการบันทึกธุรกรรมและประกาศให้ทุกคนในระบบบันทึกเหมือนๆ กัน

Proof of Work
Source: bitpanda.com

และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงบัญชีย้อนหลังเป็นไปได้ยาก ระบบของบิตคอยน์จะทำการบันทึกธุรกรรมเหล่านั้นเป็น Block ที่มีการต่อกันด้วยข้อมูลบางอย่างที่เป็นเหมือนลายเซ็นต์ของ Block ก่อนหน้า (Hash ของ Block ก่อนหน้า) ที่หากเกิดมีคนแก้ไขบัญชีก่อนหน้าแม้แต่นิดเดียวก็จะทำให้ลายเซ็นต์นั้นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงซึ่งคนอื่นๆ ในระบบก็จะรับรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงและไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่ง Block ที่มีการเชื่อมต่อดังกล่าวนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Blockchain

Source: weforum.org

โจทย์ที่บิตคอยน์มอบให้นั้นจะเป็นโจทย์ที่การหาคำตอบจะต้องผ่านการสุ่มเท่านั้น โดยการสุ่มดังกล่าวจะเป็นการใช้ SHA-256 ที่เป็น Hash Function แบบหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนข้อความที่ยาวแค่ไหนก็ได้ให้เหลือเพียง 64 ตำแหน่งที่เป็นทั้งพยัญชนะภาษาอังกฤษและตัวเลขปนกัน ซึ่งหากมีการเปลี่ยน Input เพียงตัวเดียวก็สามารถทำให้ Hash เปลี่ยนไปทั้งหมดได้เลย

Source: wikipedia.com

ซึ่งโจทย์ของบิตคอยน์จะต้องการให้ผู้สุ่มนำ

1) Hash ของ Block ก่อนหน้า

2) บันทึกธุรกรรมที่ต้องการบรรจุลง Block

3) Nonce หรือ number only used once

มาเขียนรวมกันแล้วนำไป Hash โดยให้ผู้สุ่มทำการสุ่มเลข Nonce ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เลข Hash ที่เข้าเป้าหมาย 

แต่คนในระบบใช่ว่าทุกคนจะมีกำลังในการประมวลผลเท่ากัน คนที่มีกำลัง Hash ได้ไวกว่าก็มีโอกาสเจอเลขที่เข้าเป้าหมายได้ง่ายกว่าคนที่มีกำลัง Hash น้อย แต่คนที่มีกำลัง Hash น้อยก็สามารถเจอเลขเป้าหมายก่อนได้เช่นกันถ้ามีดวงเพราะถ้าดวงดีสุ่ม Nonce ถูกก็เจอคำตอบก่อนได้นั่นเอง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น มันจะคล้ายการทอยลูกเต๋า โดยสมมติว่าโจทย์กำหนดให้ว่า หากใครทอยลูกเต๋าได้ต่ำกว่า 3 ถือว่าชนะ และให้คนที่มีกำลังประมวลผลมากมีลูกเต๋า 2 ลูก คนที่มีกำลังประมวลผลน้อยมีแค่ 1 ลูก

หากลองทอยพร้อมกัน คนมี 2 ลูกก็มีโอกาสได้ซักลูกนึงได้ต่ำกว่า 3 ก่อน แต่ถ้าดวงซวยจริงๆ คนมี 2 ลูกก็อาจทอยไม่ได้ต่ำกว่า 3 เลย แล้วคนมีลูกเดียวทอยครั้งเดียวได้ก็สามารถเกิดขึ้นได้

Source: medium.com/swlh

มาถึงส่วนต่อไปก็คือเรื่องของโจทย์ที่ถ้าโจทย์มีความง่ายเท่าเดิม แล้วมีคนอัดกำลังการสุ่มไปแล้วยิ่งเครื่องมือที่ใช้สุ่มมีประสิทธิภาพด้วยก็จะทำให้แก้โจทย์ได้ง่ายแม้จะเป็นการสุ่มก็ตาม

คล้ายการที่มีลูกเต๋าชนิดพิเศษที่ทอยยังไงก็ได้ต่ำกว่า 5 (ประสิทธิภาพสูงกว่าปกติ) แล้วยิ่งมีหลายลูก(กำลังการสุ่ม) โอกาสถูกก็มากกว่าคนมีลูกเต๋าลูกเดียวที่สามารถทอยออกได้ทั้ง 6 หน้านั่นเอง

ทำให้ส่วนประกอบอีกส่วนที่มีความสำคัญก็คือ Difficulty Adjustment Algorithm หรือก็คือการที่ความยากของโจทย์จะถูกปรับตามกำลังประมวลผลของทั้งระบบ โดยจะปรับทุกๆ 2,016 block ให้สามารถแก้โจทย์ได้โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 10 นาที ที่หากมีกำลังประมวลผลในระบบมากขึ้น ความยากของโจทย์ก็จะสูงขึ้น หากมีกำลังประมวลผลในระบบน้อย ความยากก็จะต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ตั้งไว้

หลังจากผ่านกระบวณการเหล่านั้นและพบผู้ชนะแล้ว คนนั้นก็จะเป็นคนสรุปธุรกรรมและประกาศให้ทุกคนในเครือข่ายบันทึกข้อมูลเหล่านั้น และนอกจากนั้นผู้ชนะก็จะได้ Block Reward ที่ประกอบด้วย Block Subsidy และ Transaction Fee ที่จะถูกจ่ายเป็นบิตคอยน์เป็นสิ่งตอบแทน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมีคนจำนวนมากแย่งกันในการที่จะเป็นผู้บันทึกบัญชีให้ได้

Source: twitter.com/antminer_main

จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Proof of Work ของบิตคอยน์นั้นเป็นงานง่ายๆ แต่หาคำตอบได้ไม่ง่าย ทำให้คนที่ต้องการทายถูกต้องการเพียงคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการทายตัวเลขเท่านั้น ไม่ได้ต้องการคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดและรวดเร็วในทุกๆ ด้าน จึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์เครื่องที่ออกแบบมาเพื่อการ Hash โดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า Application Specific Integrated Circuit (ASIC) ที่หลายคนคุ้นหูขึ้นมา

หากจะให้สรุปเป็นภาพรวมง่ายๆ Proof of Work ก็คือกระบวนการที่บิตคอยน์ใช้หาข้อสรุปบัญชีเพียงหนึ่งเดียวที่จะถูกบันทึกลงบล็อกเชนของบิตคอยน์ โดยที่ทุกคนในระบบสามารถยอมรับข้อสรุปนั้นได้โดยไม่มีข้อสงสัยและไม่ต้องเชื่อใจกัน และกำลังประมวลผลโดยรวมของทั้งระบบนี้จะคอยปกป้องระบบของบิตคอยน์ไม่ให้ใครสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกรรมได้ง่ายๆ

โดย Work ในที่นี้ก็คือกระบวณการที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องขุดเฉพาะทางอย่าง ASIC เพื่อเปลี่ยนพลังงานหรือกระแสไฟฟ้าให้กลายเป็น Hash ที่เข้าเป้าหมาย

ส่วน Proof of work ก็คือตัว Hash ที่เข้าเป้าหมาย ซึ่งการได้มาซึ่ง Hash ที่เข้าเป้าหมายนี้นั้นสามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ที่ปิดบัญชีได้มีการใช้พลังงานไปจริงๆ ไม่สามารถโกงได้

2. ทำไมต้อง Proof of Work ?

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง “51% Attack” ที่ว่าหากนักขุดคนใดหรือกลุ่มใดมีกำลังประมวลผลมากกว่า 50% ของทั้งระบบก็จะสามารถโจมตีระบบได้

51% Attack
Source: bitnovo.com

การโจมตี 51% นี้จะสามารถโจมตีระบบได้ 2 แบบหลักๆ คือ

  • หยุดการทำธุรกรรมโดยการสร้าง Block เปล่า หรือก็คือไม่นำธุรกรรมของผู้ใช้งานมาบันทึกทำให้ผู้ใช้งานบิตคอยน์ไม่สามารถทำธุรกรรมได้
  • Double Spending หรือก็คือการแก้ไขธุรกรรมของตัวเองเพื่อใช้เงินซ้ำซ้อน

โดยผู้โจมตีนั้นไม่สามารถขโมยหรือสร้างบิตคอยน์เพิ่มได้ไม่สามารถเปลี่ยน source code ได้และไม่สามารถยุ่งกับธุรกรรมของคนอื่นได้นอกจากตัวเอง

“แล้วมันคุ้มค่าหรือเปล่าที่จะทำแบบนั้น ?”

ในเมื่อมนุษย์ยังไม่สามารถโกงพลังงานและเวลาได้การใช้เครื่องขุดและพลังงานไฟฟ้าในโลกจริงจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกลงไปในระบบนี้ผ่านการลงทุนลงแรงไปจริงๆ เพราะไม่มีใครที่อยู่ดีๆ ก็สามารถเสกเครื่องขุด เครื่องคอมพิวเตอร์ และพลังงานไฟฟ้าออกมาได้ทันที

หากคุณต้องการโจมตี คุณจำเป็นต้องซื้อเครื่องขุดจำนวนมากพอที่จะสามารถสร้างกำลังประมวลผลได้มากกว่า 51% ของทั้งระบบพร้อมกับหาแหล่งพลังงานที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้คุณได้เพียงพอสำหรับการทำงานของเครื่องขุดเหล่านั้น ซึ่งคิดดูเล่นๆ อาจดูง่าย แต่จริงๆ อาจไม่ได้เป็นงานที่ไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด

2.1 เครื่องขุดที่จำนวนมากพอ

Source : bloomberg.com

ในขณะที่เขียนนี้บิตคอยน์มีกำลัง Hashrate ของทั้งระบบอยู่ที่ 278m TH/s และเครื่องขุด Antminer S19 XP Hyd (255Th) ของ Bitmain เป็นเครื่องขุดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดมีกำลัง Hashrate สูงสุดที่ 255 TH/s

Note : TH/s (Tera Hash per second) คือการ Hash จำนวน 1 ล้านล้านครั้งต่อวินาที 

การที่จะทำให้มีกำลังขุดมากเกินครึ่งได้จะต้องใช้เครื่องรุ่นใหม่นี้ที่ทำ Hash Rate อีกมากกว่า 1 เท่าตัว (มากกว่า 278m TH/s เพื่อให้กลายเป็นกำลังขุดมากกว่า 50% ของทั้งระบบ) ทำให้จะต้องใช้จำนวนประมาณ 1,090,000 เครื่อง ที่ราคาเครื่องละประมาณ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐรวมเป็นเงิน 8,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 288,000 ล้านบาท

แต่จากงาน World Digital Mining Summit ที่ Dubai เมื่อปลายปี 2021 ทาง Forbes ได้รายงานว่า Bitmain มีกำลังการผลิตอยู่เพียงประมาณ 20,000 เครื่องต่อเดือนเท่านั้น เนื่องจาก Chip ขาดแคลน และปัญหา Supply Chain อื่นๆ รวมถึงเรื่อง Logistic ที่ล่าช้าด้วย เพราะอย่าง Marathon Digital Holdings และ BitRiver จำเป็นต้องเหมาเครื่องบินเพื่อไปขน ASIC ด้วยตัวเองเพราะการขนส่งทางเรือล่าช้าเกินไป

ทำให้กว่าจะผลิตและส่งมองเครื่องจำนวน 1 ล้านเครื่องได้ก็ต้องใช้เวลา 4 ปีกว่าๆ ถึงจะผลิตได้ครบหากไม่มีการขยายโรงงานเพิ่ม ซึ่งหากจะต้องการให้ขยายกำลังการผลิตราคาต่อหน่วยคงไม่ใช่แค่ 8,000 ดอลลาร์อย่างแน่นอน และจำนวนการสั่งที่มากขนาดนั้นจะทำให้เกิดปัญหาเรื่อง Raw Material ที่ไม่เพียงพอ การแย่งซื้อ Raw Material ในตลาดก็จะทำให้ราคาต้นทุนสูงขึ้นไปอีก

การพัฒนาประสิทธิภาพของของเครื่องขุดบิตคอยน์ตั้งแต่ปี 2014 (Source: ccaf.io)

อีกทั้งมีเรื่องการพัฒนาของ ASIC ที่มีอยู่ตลอดเวลาทำให้เครื่องที่ดีที่สุดในตอนนี้อาจไม่ได้ดีที่สุดใน 4 ปีข้างหน้า ASIC รุ่นที่ดีที่สุดตอนนี้จำนวน 1 ล้านเครื่องที่สั่งไปอาจไม่เพียงพอที่จะทำการโจมตี 51% ก็ได้

หรือในอีกมุมหนึ่ง หากต้องการผลิตได้รวดเร็วก็ต้องสร้างโรงงานผลิตเองซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนการโจมตีบิตคอยน์สูงขึ้นได้อีกมาก

2.2 แหล่งพลังงานที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เครื่องขุดได้ทั้งหมด

Antminer S19 XP Hyd (255Th) ของ Bitmain แต่ละเครื่องกินกำลังไฟที่ 5304W ซึ่งจะคิดอัตราการใช้พลังงานเป็น 50 terawatt-hours (TWh) ต่อปี พร้อมกับที่ต้องเสียค่าไฟประมาณ 16.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (550 ล้านบาทต่อวัน) โดยคิดจากค่าไฟที่ 0.12 USD/KWh หรือ 4 บาทนิดๆ ต่อหน่วย

ความต้องการไฟฟ้าที่มากขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาเครื่อง ASIC 1 ล้านกว่าเครื่องไปตั้งแล้วก็ต่อไฟได้ง่ายๆ เพราะมันคือความต้องการไฟฟ้าขนาดประเทศเล็ก-ปานกลาง 1 ประเทศ ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลจาก EIA (US Energy Information Administration) ในปี 2019 แล้วจะพอๆ กับประเทศโปรตุเกสทั้งประเทศเลยทีเดียว

Source: eia.gov

และไม่ว่าเครื่องขุด 1 ล้านเครื่องจะไปตั้งอยู่ที่ไหน ความต้องการพลังงานเพิ่ม 50 TWh ต่อปีคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเพราะเราต้องไปแย่งกับการใช้พลังงานปกติของประเทศนั้นๆ และความต้องการพลังงานมากขึ้นขนาดนี้ก็ต้องทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้อีกจากที่คำนวณไว้ ทำให้ประชาชนและรัฐบาลประเทศนั้นๆ ไม่ยอมแน่นอน

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งในประเทศก็ไม่ได้มีแค่แห่งเดียวที่หล่อเลี้ยงทั้งประเทศ ซึ่งถ้าเรานำเครื่องขุดไปตั้งใกล้โรงไฟฟ้าใดโรงหนึ่ง โรงไฟฟ้านั้นก็มีอาจไม่มี Capacity เหลือที่จะนำมาแจกจ่ายให้กับเครื่องขุดเหล่านั้น

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเองเพื่อที่จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับเครื่องขุดได้โดยไม่กระทบกับประชาชนคนอื่นๆ ทำให้ค่าใช้ก็ต้องมากกว่าที่คำนวณไว้ได้อีก

นอกจากทั้งสองข้อที่กล่าวมานี้ยังมีเรื่องสถานที่ งานระบบ การจ้างคนดูแล ที่ต้องใช้เงินอีกมาก และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือผู้คนที่ตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องขุดมาหรือตั้งใจจะโจมตีนี้ต้องจ่ายเงินที่เป็นต้นทุนไปก่อนโดยไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นไปอย่างที่คำนวณไว้หรือไม่ ทำให้แค่ตัดสินใจก็ต้องพบความเสี่ยงที่คาดเดาได้ยากแล้ว

อีกทั้งการโจมตี 51% ทำได้แค่ปิดกั้นธุรกรรมและ Double Spending เท่านั้น ซึ่งการที่จะทำให้ Double Spending มีมูลค่าเทียบเท่าหรือมากกว่าที่ลงทุนไปเพื่อโจมตีแสดงว่าบิตคอยน์ต้องมีมูลค่า แต่ถ้าเกิดการโจมตีขึ้นมากจริงๆ ผู้คนในระบบก็จะรับรู้ว่าระบบนี้ไม่ปลอดภัยและทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ลดลงจนไร้มูลค่า ซึ่งก็จะทำให้ผู้โจมตีที่ลงทุนไปหลักหมื่นล้านดอลลาร์ก็จะกลายเป็นการลงทุนที่ไร้ค่าทันที มากไปกว่านั้นเครื่องขุดที่ซื้อมาก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้เพราะมันถูกสร้างมาโดยเฉพาะเพื่อการ Hash เท่านั้น

และเมื่อนำทั้งหมดมาประกอบกันก็จะทำให้เห็นว่า Proof of Work ของบิตคอยน์ที่มีการใช้เครื่องขุดและกำลังไฟฟ้ามหาศาลในโลกจริงนั้นเป็นเครื่องยืนยันความแข็งแกร่งของบิตคอยน์ได้อย่างแท้จริงเพราะไม่มีใครสามารถโกงพลังงาน เวลา และทรัพยากรธรรมชาติได้ และทำให้ Proof of Work แตกต่างจากระบบฉันทามติอื่นๆ อย่าง Proof of Stake อย่างเห็นได้ชัด เช่น มีคน Pre-mine เหรียญเพราะฉะนั้นถ้าเราเอาเหรียญไป Stake มันจะเกิดความไม่เท่าเทียบกันเพราะมีคนที่มีเหรียญเยอะมาตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องแข่งขันอะไรภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันเลย

หรือจะเป็นในลักษณะที่ถ้าราคาเหรียญของ PoS Blockchain ตกหนักๆ ก็ทำให้ทุนโจมตีระบบ Proof of Stake ลดลงได้ตามราคาเหรียญที่ลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปี 2022 ก็คือเหตุการณ์ของเหรียญ LUNA ของ Terra Blockchain ที่ตอนเกิดปัญหาแล้วคนพยายามแห่กัน Unstake เหรียญออกมาจนในตอนนั้น Do Kwon ต้องทำการหยุดการทำงานของ Terra Blockchain 

อย่างไรก็ตาม ระบบ Proof of Work นั้นไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาแล้วแข็งแกร่งได้เลยเพราะในช่วงแรกระบบจะอ่อนแอมากเพราะมีคนเข้ามาเป็น Miner น้อยและตัวเหรียญเองก็ยังไม่ได้มีค่าอะไรมากมาย ทำให้ต้นทุนของค่าไฟและกำลังประมวลผลค่อนข้างต่ำมากๆ 

การที่บิตคอยน์โตมาได้ขนาดนี้ก็เพราะในตอนแรกบิตคอยน์ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักและมีคนเข้าใจเยอะเหมือนทุกวันนี้ ทำให้ไม่มีใครเข้าไปใส่ใจ คิดโจมตี หรือปิดกั้นอะไรเพราะหลายคนก็คงคิดว่าเดี๋ยวบิตคอยน์ก็คงล้มเหลวเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา แต่พอบิตคอยน์ผ่านในช่วงแรกๆ ที่อ่อนแอมาจนโตและแข็งแกร่งได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ทำให้ทุนการโจมตีบิตคอยน์สูงมากและอาจหลุดช่วงที่จะสามารถโจมตีได้ง่ายไปแล้วนั่นเอง

3. การรวมศูนย์ของ Mining Pool น่ากังวลหรือไม่ ?

จากการที่กระบวณการขุดบิตคอยน์นั้นเป็นการสุ่มจึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องของรายได้ รายย่อยที่ลงทุนเครื่องขุดไปแล้วดวงแย่มากก็อาจขุดไม่ได้เลย การรวมตัวของกำลังขุดจึงเกิดขึ้นเป็น Mining Pool เพื่อช่วยกันขุดและเพิ่มโอกาสในการปิดบล็อก

Source: btc.com

แต่จากข้อมูล Mining Pool ในปัจจุบันจะพบว่ามี Mining Pool ใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่ Pool ซึ่ง 3 อันดับแรกที่ครอง Hash Rate เยอะที่สุดก็คือ Foundry USA (21.5%), AntPool (15.8%) และ F2Pool (14.7%)

ซึ่งหากนำกำลังขุดของทั้ง 3 Pool นี้มารวมกันจะเห็นได้ว่ามีกำลังขุดสูงถึง 52% ซึ่งเพียงพอที่จะโจมตีระบบได้แล้ว อีกทั้งดูเผินๆ แล้วก็จะเห็นว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจในแง่หนึ่งด้วย

แต่จริงๆ แล้วกำลังขุดที่เห็นนี้ไม่ได้เป็นกำลังขุดที่ Pool นั้นๆ เป็นเจ้าของทั้งหมด แต่เป็นการที่นักขุดรายย่อยจากทั่วทุกมุมโลกส่งกำลังขุดเข้าไปรวมใน Pool นั้นๆ เพื่อให้ความแน่นอนของการปิดบล็อกมีโอกาสมากขึ้นและมีรายได้ที่แน่นอนมากขึ้น

จาก Bitcoin Mining Map โดย Cambridge Centre for Alternative Finance (CCAF) จะเห็นได้ว่าจริงๆ การขุดบิตคอยน์เกิดขึ้นกระจายอยู่หลายที่บนโลก

Source: ccaf.io

ซึ่งหมายความว่าหากทั้ง 3 Pool นี้ร่วมมือกันโจมตีระบบจริง ผู้คนก็จะสามารถเห็นได้ไม่ยากและทำการถอนกำลังขุดออกไป Pool อื่นได้ทันที โดยสิ่งที่ทำให้นักขุดมีแนวโน้มที่จะถอนกำลังทันทีก็เพราะหากร่วมมือกันโจมตีก็จะทำให้บิตคอยน์ไร้ค่าและการลงทุนเครื่องขุดของรายย่อยก็จะเสียเปล่า ดังนั้นการร่วมมือกันปกป้องระบบเป็นทางเดียวที่จะทำให้นักขุดยังอยู่รอดได้

และเมื่อนักขุดรายย่อยถอนกำลังขุดออกไปเรื่อยๆ Pool ที่เคยเป็นผู้นำก็จะกลายเป็น Pool เล็กๆ ที่สูญเสียความเป็นผู้นำไปและกลายเป็นผลเสียต่อตัวเองเพราะจะมีโอกาสขุดได้น้อยลง และทำให้เจ้าของ Pool ที่เคยเป็นผู้นำต้องไปเข้าร่วมกับ Pool อื่นๆ ที่ซื่อสัตย์แทน ดังนั้นเรื่อง Mining Pool นี้อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากเท่าไหร่จากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น

4. ถ้าขุดบิตคอยน์ครบ 21 ล้านเหรียญแล้วจะเป็นยังไงต่อ ?

เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยตั้งคำถามเรื่องที่ว่า “ถ้าบิตคอยน์ถูกขุดจนครบ 21 ล้านเหรียญแล้วจะเป็นยังไงต่อ? ” เพราะในตอนนี้เมื่อใครได้เป็นผู้ปิดบล็อกจะได้รับบิตคอยน์ 6.25 BTC ต่อบล็อกหรือที่เรียกว่า Block Subsidy พร้อมกับ Transaction Fee เฉลี่ยเพียงประมาณ 0.15 BTC ต่อบล็อกหรือคิดเป็นประมาณ 2.4% ของ Block Subsidy เท่านั้น

ทุกๆ 210,000 Blocks หรือประมาณ 4 ปี บิตคอยน์จะมีสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin Halving ท่ีจะเป็นการลด Block Subsidy ลดครึ่งหนึ่ง ทำให้อัตราการผลิตบิตคอยน์ลดลงอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอีกข้อสงสัยหนึ่งที่ว่า “นักขุดจะอยู่รอดได้ด้วย Transaction Fee อย่างเดียวจริงหรอ ?”

ซึ่งความเป็นไปได้ที่นักขุดจะอยู่ได้ด้วยเพียงแค่ค่าธรรมเนียมนั้นก็เป็นไปได้ ถ้าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคต

  • มูลค่าของบิตคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
  • ระดับความยากที่พร้อมปรับสมดุลให้อัตราการเผาผลาญพลังงานสอดคล้องกับอัตราการสร้างรายได้ตลอดเวลา
  • การขุดด้วยไฟฟ้าที่มนุษย์ไม่ได้ใช้งานหรือเหลือทิ้งที่จะทำให้ผู้ขุดลดข้อกังวลเรื่องค่าไฟแพงไปได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วยและส่วนหนึ่งก็ยังสามารถช่วยลดมลพิษได้ทางหนึ่งด้วย (ซึ่งจะมีการพูดถึงในหัวข้อถัดไปว่าเป็นไปได้อย่างไร)
Source: coingecko.com

แม้ว่าตอนนี้บิตคอยน์จะถูกขุดขึ้นมาแล้วกว่า 19.29 ล้านเหรียญแล้ว แต่กว่าบิตคอยน์จะถูกขุดครบ 21 ล้านเหรียญนั้นก็ต้องเป็นประมาณปี ค.ศ. 2140 หรืออีก 118 ปี ซึ่งผู้อ่านรวมถึงผู้เขียนเองก็คงไม่มีชีวิตมาอยู่ดูแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

สิ่งที่ผู้เขียนเองคิดว่าระยะเวลาที่น่าจับตาดูว่าบิตคอยน์จะสามารถไปต่อได้หรือไม่ จริงๆ แล้วแค่อีกประมาณ 10 ปีก็คงเริ่มเห็นภาพแล้วเพราะบิตคอยน์จะผ่าน Halving 3 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ Block Subsidy จะลดลงเหลือต่ำกว่า 1 BTC ต่อบล็อกซึ่งเป็นปริมาณที่ดูน้อยในทางจิตวิทยาแต่ถ้าบิตคอยน์มีมูลค่ามหาศาลก็จะทำให้ Block Subsidy ที่ดูน้อยแบบนี้มีมูลค่าเพียงพอที่จะทำให้การขุดดำเนินต่อไปได้

แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้ามที่บิตคอยน์ไม่สามารถรักษามูลค่าได้ในระยะยาวจนต้องมีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน ถึงตอนนั้นก็คงได้คำตอบแล้วว่าบิตคอยน์คงไปต่อไม่ได้นั่นเอง

5. เปรียบเทียบการใช้พลังงานของบิตคอยน์และอุตสาหกรรมอื่นๆ

จากที่สถิติ Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index ของทาง Cambridge Centre for Alternative Finance (CCAF) เรื่องการใช้พลังงานของบิตคอยน์ก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่าบิตคอยน์ใช้พลังงานเยอะมากจริงๆ เพราะหากเทียบบิตคอยน์เป็นหนึ่งประเทศก็จะทำให้บิตคอยน์เป็นประเทศที่ใช้ปริมาณพลังงานมากในลำดับที่ 38 ของโลกที่ใช้พลังงานต่อปีสูงถึงประมาณ 81.87 TWh

หรือถ้าเป็นในช่วงตลาดขาขึ้นที่คนแห่กันมาขุดบิตคอยน์กันมากขึ้นก็เคยกินพลังงานไปสูงถึงเกือบๆ 200 TWh ต่อปี หรืออยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว

Source: ccaf.io

ซึ่งจากการที่บิตคอยน์ใช้พลังงานมากขนาดนี้ทำให้ขัดต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและทำให้หลายคนกังวลและบางคนก็ใช้ประเด็นนี้มาโจมตีบิตคอยน์ ซึ่งในส่วนนี้จะพาไปดูอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจทำให้บางคนเปลี่ยนมุมมองเรื่องการใช้พลังงานของบิตคอยน์ไปได้

จากวารสารตีพิมพ์ชื่อ “Bitcoin: Cryptopayments Energy Efficiency” ของ Michel Khazzaka ที่พึ่งตีพิมพ์ลง Journal of Insurance and Financial Management (JIFM) เมื่อ 3 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมานี้ได้มีการเปรียบเทียบการใช้พลังงานของ Bitcoin และ Traditional Banking System ออกมาได้อย่างน่าสนใจ

Source: journal-of-insurance-and-financial-management.com

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่าบิตคอยน์ในช่วงนี้นั้นใช้กำลังไฟอยู่ที่ประมาณ 81 TWh/yr และมีส่วนที่เป็น Theoretic Best อยู่ที่ประมาณ 37 TWh/yr (การที่นักขุดทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็นเครื่อง ASIC ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในตอนนี้ซึ่งจะสามารถสร้าง Hash ได้เท่าเดิมและไม่ได้กระทบค่า Difficulty ในขณะที่กินไฟน้อยลง)

ส่วน Classical System หรือระบบการเงินดั้งเดิมที่รวมทั้งพลังงานที่ใช้ใน Ecosystem มาค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานที่ใช้ในการพิมพ์ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์, การขนส่งเงินสด, ATM, EPOS, ระบบบัตรเครดิตและเดบิตในรูปแบบต่างๆ , สำนักงานและสาขาธนาคารทั่วโลก, พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของพนักงานธนาคารทั่วโลก , Data Center และ ระบบการ Settlement เงินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมแล้วจะได้ผลว่าระบบการเงินดั้งเดิมจะใช้พลังงานที่สูงถึงประมาณ 2252 TWh/yr

เหมืองทองที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก (Source: newsmeter.in)

และอีกอย่างหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในการเปรียบเทียบนี้ก็คือ ทอง (Gold) ที่ในวารสารฉบับนี้ได้อ้างอิงข้อมูลจากบทความ Comparing Bitcoin’s Environmental Impact ของ Hass McCook ใน Medium ซึ่งได้กล่าวว่าในปี 2020พลังงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับทองนี้สูงถึง 265 TWh/yr

ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าระบบการเงินเดิมใช้พลังงานมากกว่าบิตคอยน์ประมาณ 28 เท่า และพลังงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมทองก็ใช้มากกว่าบิตคอยน์ประมาณ 3.3 เท่า

อีกทั้งการมองว่าบิตคอยน์เป็นระบบการเงินทางเลือกของโลกที่ไม่มีใครควบคุมนโยบายทางการเงินได้ ไร้ตัวกลาง มีความเป็นส่วนตัวระดับหนึ่งแบบนี้นั้น ทางผู้ที่ชื่นชอบบิตคอยน์ก็คงมองว่าการใช้พลังงานไปประมาณนี้ก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลกับสิ่งที่ผู้คนทุกคนบนโลกจะได้รับจากบิตคอยน์

6. Bitcoin มีแนวโน้มเข้าหาพลังงานสะอาดและพลังงานเหลือทิ้งอย่างจริงจัง

Bitcoin Mining หรือการขุดบิตคอยน์นั้นสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ และเหล่านักขุดนั้นจะต้องคอยเสาะหาแหล่งพลังงานที่ดีและราคาถูกอยู่เสมอเพราะยิ่งพลังงานราคาถูกเท่าไหร่ นักขุดก็จะยิ่งได้กำไรมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้บิตคอยน์นั้นเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่จะคอยเสาะหาและกินพลังงานราคาถูกเสมอ

นักขุดบิตคอยน์สามารถโยกย้ายเครื่องขุดไปตั้งตามแหล่งพลังงานราคาถูกที่ไหนก็ได้บนโลกได้ไม่ยากซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คนแค่ไหนก็ได้ และที่สำคัญนักขุดสามารถนำเครื่องขุดบิตคอยน์ไปเชื่อมต่อกับพลังงานที่เหลือทิ้งที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้

ซึ่งในลักษณะนี้การขุดบิตคอยน์จะไม่ได้เข้าไปแย่งพลังงานกับประชาชนผู้พักอาศัยหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ แต่จะเข้าไปเปลี่ยนพลังงานเหลือทิ้งเหล่านั้นกลายเป็นมูลค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเกิด Loss น้อยมาก

Source: eia.gov

เพราะโดยปกติแล้วไฟฟ้าที่ส่งผ่านสายส่งจากพื้นที่ห่างไกลเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยที่อยู่ไกลกันมากๆ จะมี Loss ในสายส่งค่อนข้างเยอะ ซึ่งข้อมูลปี 2021 ของสหรัฐจาก US Energy Information Administration (EIA) แสดงให้เห็นว่าส่วนที่เป็น Transmission & Distribution Loss (T&D Loss) นั้นคิดเป็นประมาณ 5.5% ของ Net Generation of Electricity ซึ่งอาจจะดูน้อยแต่ถ้าคิดเป็นหน่วย TWh แล้วจะสูงถึง 206 TWh โดยประมาณพลังงานระดับนี้นั้นมากกว่าที่ Bitcoin Network ใช้อยู่ตอนนี้ถึง 2.4 เท่า

ทำให้การเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าผ่านเครื่องขุดจนกลายเป็นบิตคอยน์ ณ ตรงนั้นเลยจะสามารถเปลี่ยนพลังงานมาเป็นมูลค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก อีกทั้งหากพลังงานนั้นเป็นพลังงานเหลือทิ้งแล้วด้วยนั้นเท่ากับว่าผู้ขุดจะไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนค่าไฟและทำให้ Bitcoin Network นั้นมีกำลังขุดหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา

ตัวอย่างแหล่งพลังงานที่ว่านี้ก็มีหลากหลายแต่บางคนก็อาจนึกไม่ถึงเช่น พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตไฟฟ้า (ปกติโรงไฟฟ้าต้องผลิตไฟฟ้าเผื่อเพื่รองรับความต้องการที่ไม่แน่นอน), พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในหน้าฝน (อาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้องปล่อยน้ำมาปั่น Turbine เพื่อผลิตไฟฟ้าทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์), Flare Gas จากกระบวณการผลิตน้ำมันที่ปล่อยทิ้งโดยเปล่าประโยชน์, พลังงาน Geothermal จากภูเขาไฟ เป็นต้น

Source: ccaf.io

จากภาพด้านบน ทาง Cambridge Centre for Alternative Finance (CCAF) ได้นำข้อมูลพลังงานเหลือทิ้งเหล่านั้นมาเทียบกับการใช้พลังงานของ Bitcoin Network ซึ่งจะเห็นได้ว่าพลังงานเหลือทิ้งเหล่านี้สามารถนำมาใช้หล่อเลี้ยง Bitcoin Network ได้อย่างเหลือเฟือ

  • T&D Electricity Loss : พลังงานที่สูญเสียในสายส่ง 206 TWh (2.4 เท่าของทั้ง Bitcoin Network)
  • Gas Flaring :  ถ้านำ Flare Gas ที่ปล่อยเสียไปมาผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตได้ 688 TWh (8.2 เท่าของทั้ง Bitcoin Network)
  • Renewable Curtailment in China : การจำกัดปริมาณการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจาก Renewable Energy ในจีนทำให้มีพลังงานไฟฟ้าที่เหลือทิ้งจากการผลิตกว่า 105 TWh (1.2 เท่าของทั้ง Bitcoin Network) 

หากผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเหล่านี้เห็นโอกาสและนำเครื่องขุดบิตคอยน์มาใช้พลังงานเหลือทิ้งนี้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถเสริมรายได้ให้กับบริษัทโดยมีความเสี่ยงน้อยกว่านักขุดโดยทั่วไปเพราะผู้ประกอบการพวกนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟเนื่องจากปกติพลังงานเหล่านี้ก็เหลือทิ้งอยู่แล้ว อีกทั้งยังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยและ Bitcoin Network ก็ได้รับความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นซึ่งก็เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

Source: criptonoticias.com

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2022 ทาง Bloomberg และ CNBC ก็มีรายงานว่าบริษัท Exxon Mobil กำลังทดลองทำ Pilot Program กับ Crusoe Energy Systems Inc. เพื่อนำ Flare Gas มาผลิตไฟฟ้าผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ได้ (Mobile Generator) และนำไฟฟ้าเหล่านั้นไปหล่อเลี้ยงเครื่องขุดบิตคอยน์

ซึ่งสิ่งที่ Exxon ตัดสินใจทำแบบนี้ก็เนื่องจาก Exxon ได้เข้าร่วมโครงการ Zero Routine Flaring by 2030 ของ World Bank ร่วมกับบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการร่วมมือกับ Crusoe นี้ก็จะทำให้ Exxon สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ไปได้ถึงประมาณ 63% หากเปรียบเทียบกับการไม่ทำอะไรและปล่อย Flare Gas ทิ้งไปเรื่อยๆ

และผลที่ได้ก็เป็นผลดีกับทุกฝ่าย Exxon สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้มาก, Crusoe ได้พลังงานที่ถูกกว่าปกติทำให้ได้กำไรจากการขุดมากขึ้น และ Bitcoin Network ก็แข็งแกร่งขึ้น

Source: telegraph.co.uk

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการใช้ไอน้ำแรงดันสูง (High-pressure Steam) ที่เกิดจากพลังงานความร้อนใต้พื้นดิน (Geothermal) รอบภูเขาไฟ Tecapa ใน El Salvador เพื่อมาผลิตไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 102 MW โดยมีการนำพลังงานไฟฟ้าบางส่วนประมาณ 1.5 MW มาแจกจ่ายให้ ASIC ประมาณ 300 เครื่องเพื่อขุดบิตคอยน์

ซึ่งกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้านี้รวมกับอีกโรงไฟฟ้าใกล้เคียงที่ชื่อ Ahuachapan ที่ผลิตได้อีกประมาณ 95 MW ก็สามารถหล่อเลี้ยงประชาชน El Salvador ได้ 1.5 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 6.5 ล้านคน (23% ของประชากร) แต่นอกจากภูเขาไฟดังกล่าว El Salvador มีภูเขาไฟอีก 22 ลูกที่บางส่วนอาจยังไม่ได้เข้าถึงหรือยังอันตรายเกินไป ในอนาคตอาจได้เห็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติเหล่านี้ได้อีกมาก

7. Summary

หากมองผิวเผิน Proof of Work ของบิตคอยน์อาจดูเป็นการใช้พลังงานที่มากและสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์แต่จริงๆ แล้วเป็นการใช้พลังงานไปเพื่อหล่อเลี้ยงระบบการเงินดิจิทัลที่แข็งแกร่งไร้ตัวกลาง มีความเป็นส่วนตัวและนโยบายการเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนที่ไม่เชื่อระบบการเงินเดิมที่คอยกัดกินเงินเก็บของพวกเขาไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

พลังงานที่ใช้สำหรับ Proof of Work ก็มีบางส่วนหรืออาจเป็นส่วนมากที่เป็นพลังงานสะอาดหรือพวกพลังงานเหลือทิ้ง ซึ่งการหันมาใช้พลังงานเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะมากขึ้นในอนาคตและทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากบิตคอยน์น้อยลง ใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมอีกมุมหนึ่งยังสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซ CO2 ได้อีกด้วย

ผู้ที่ตั้งใจขุดบิตคอยน์อย่างสุจริตจะได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและถ้าในอนาคตมีการหันมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานเหลือทิ้งมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อโลกได้ในภาพรวม ในขณะที่ผู้คิดจะโจมตีต้องลงทุนไปล่วงหน้าอย่างมหาศาลเพื่อแข่งกับนักขุดที่สุจริตและไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ

และเนื่องจากพลังงานและเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์โกงไม่ได้ ส่วนสำคัญที่ทำให้บิตคอยน์แข็งแกร่งและถูกโจมตีได้ยากในทุกวันนี้ก็คือการเชื่อม Bitcoin Network กับการใช้พลังงานและเวลาในโลกจริง โดยวิธีการเชื่อมที่บิตคอยน์เลือกใช้นั่นก็คือ “Proof of Work” นั่นเอง

สุดท้ายนี้ แม้ว่าในตอนนี้ Proof of Work จะดูแข็งแกร่งมาก ดูมีอนาคตที่สวยงาม แต่โลกนี้ก็มีแต่ความไม่แน่นอนเต็มไปหมดซึ่งในอนาคตอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือมีอะไรผิดไปจากที่เราคิดไว้ได้ ดังนั้นนักลงทุนหรือผู้เก็บออมในบิตคอยน์ก็ควรจะต้องติดตามสถานะต่างๆ ของ Bitcoin Network อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถเห็นสิ่งผิดปกติได้ก่อนคนอื่นๆ และเอาตัวรอดได้

ดาวน์โหลด
DOWNLOAD FOR FREE!
Apinat

บทความที่เกี่ยวข้อง

Infrastructure
News Analysis
Bitcoin ไม่ดับตามไฟ! เปิดคู่มือใช้งาน Bitcoin สำหรับวันที่ไฟดับ-เน็ตล่ม
Apinat
April 30, 2025
DeFi
Macro
Report
Stablecoin Report by Cryptomind Advisory
Apinat
December 14, 2022
DeFi
Infrastructure
Automated Market Maker (AMM)
Kasidit Muankhoksoong
July 19, 2024